หลายๆ คนคงเคยได้ยินหรือทราบข่าวการหลอกลวงเรื่องเงินที่เกิดขึ้นใน Facebook กันมาบ้างแล้ว ซึ่งจะกระทำโดยอาชญากรบนไซเบอร์ โดยจะทำการสร้างบัญชีปลอมหรือแฮกเข้าบัญชีของผู้ใช้ Facebook ที่มีอยู่ บัญชีผู้ใช้ปลอมหรือบัญชีผู้ใช้ที่ถูกละเมิดความปลอดภัย จะพยายามหลอกให้ผู้ใช้ส่งเงินหรือโอนเงินให้โดยจะส่งข้อความที่เป็นส่วนตัวถึงคนๆ นั้น หากมีผู้ที่ไม่หวังดีพยายามส่งข้อความหาผู้ใช้ ให้ผู้ใช้กดรายงานเรื่องนี้
การหลอกลวงเรื่องเงินที่พบบ่อย เมื่อรับหรือส่งเงินผ่านทางข้อความ มีดังนี้
– การหลอกลวงเรื่องความรัก
การหลอกลวงเรื่องความรัก โดยปกติมิจฉาชีพที่หลอกลวงเรื่องนี้ จะส่งข้อความในแนวหวานๆ ให้กับผู้ที่ตนไม่รู้จัก โดยจะอ้างว่าโสด, หย่าร้าง, เป็นม่าย หรือมีชีวิตคู่ที่สั่นคลอน ผู้ที่เป็นมิจฉาชีพจะพยายามสร้างความสัมพันธ์ออนไลน์โดยหวังว่าจะได้รับเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายสิ่งต่างๆ เช่น เที่ยวบินหรือวีซ่า โดยมิจฉาชีพเหล่านั้นอาจจะใช้รูปภาพบุคคลจากสถาบันที่เป็นทางการซึ่งหาได้ในโลกออนไลน์ เช่น กองทัพหรือหน่วยงานราชการต่างๆ เน็ตไอดอล เป็นต้น เป้าหมายของมิจฉาชีพ คือ การพยายามสร้างความเชื่อใจให้กับเหยื่อ ดังนั้น การสนทนาอาจดำเนินหลายอาทิตย์ ก่อนที่จะออกอุบายขอเงินจากผู้ที่ถูกหลอก
– การหลอกลวงเรื่องฉลากกินแบ่งรัฐบาล
การหลอกลวงเรื่องฉลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น โดยส่วนมากจะมาจากบัญชีผู้ใช้ที่แอบอ้างเป็นคนที่คุณรู้จักหรือแอบอ้างข้อมูลส่วนตัวที่ปลอมแปลงขึ้นมาอ้างว่าเป็นองค์กรหนึ่ง ข้อความนั้นจะแอบอ้างว่าคุณเป็นผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลผลฉลากกินแบ่ง และจะได้รับเงินจากการถูกรางวัลนั้น หากแต่คุณต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนเล็กน้อย ผู้ที่เป็นมิจฉาชีพอาจจะขอให้คุณบอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชนของคุณ หรือรายละเอียดต่างๆ ของบัญชีธนาคาร เป็นต้น
– การหลอกลวงเพื่อรับบริจาค
การหลอกลวงเพื่อรับบริจาคประเภทนี้ จะมาจากบัญชีผู้ใช้ที่แอบอ้างเป็นบุคคลในศาสนาที่มีชื่อเสียง หรือจากบัญชีผู้ใช้ที่ปลอมเป็นตัวแทนจากองค์กรการกุศลหรือสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าต่างๆ ในข้อความ โดยมิจฉาชีพจะขอให้คุณร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลือองค์กรเหล่านั้น
– การหลอกลวงเรื่องมรดก
การหลอกลวงเรื่องมรดกนั้น ผู้ที่มาหลอกลวงจะอ้างตัวว่าเป็นทนายความหรือมาจากสำนักกฎหมาย โดยแอบอ้างว่าเป็นผู้ดูแลมรดกของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยในข้อความที่ส่งมาให้คุณนั้นจะระบุว่าคุณได้รับมรดก ผู้ที่หลอกลวงหรือมิจฉาชีพอาจจะขอให้คุณบอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชนของคุณ หรือรายละเอียดต่างๆ ของบัญชีธนาคาร เป็นต้น
– การหลอกลวงเรื่องสินเชื่อ
ผู้หลอกลวงเรื่องสินเชื่อ จะส่งข้อความและฝากโพสต์และความคิดเห็นในเพจและกลุ่มต่างๆ โดยจะเสนอหรืออ้างว่ารู้จักผู้ที่ปล่อยสินเชื่อทันใจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียงแค่คุณต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
บุคคลที่ต้องระวัง ใน Facebook เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
- ผู้ที่ขอเงินจากคุณ โดยที่คุณไม่รู้จักตัวตนจริงๆ
- ผู้ที่ขอให้คุณช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้าเพื่อรับสินเชื่อ รางวัล หรือของกำนัลจากการชนะรางวัลต่างๆ
- ผู้ที่ขอให้คุณนำการสนทนาของคุณออกจาก Facebook เช่น ที่อยู่อีเมล
- ผู้ที่อ้างว่าเป็นเพื่อนหรือญาติพี่น้องที่ประสบภาวะฉุกเฉิน โดยที่คุณไม่เคยรู้จักหรือทราบมาก่อน
- การสะกดคำหรือใช้คำศัพท์ที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น ผู้ใช้ Facebook ไม่ควรไว้ใจหรือเชื่อใจใครง่ายๆ เพียงเพราะแค่การมาพูดคุยเบื้องต้น โดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพราะนั่นจะทำให้ผู้ใช้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ควรระวังและป้องกันการใช้บัญชี Facebook ด้วยการตั้งรหัสและเปลี่ยนรหัสอยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้แฮกเกอร์เข้าถึงบัญชีผู้ใช้ของเราได้
เกาะติดข่าวสารการตลาดออนไลน์ เทคนิคการโปรโมทโฆษณา
แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @ajlink ที่นี่
Fanpage : Aj Link
ติดตามข่าวสารไอที : www.ajlink.net