fbpx

กรมสุขภาพจิตเป็นห่วงผู้ที่ชอบโพสต์ภาพเซลฟี่แล้วใช้แอพเติมแต่งความสวยก่อนโพสต์ลงบนโลกโซเซียล เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นจากยอดไลค์ ห่วงเสี่ยงเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเองบนโลกแห่งความเป็นจริง  โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นนั้น จะทำให้มีการพัฒนาตัวเองยาก ขาดภาวะการเป็นผู้นำ  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศชาติอาจขาดนักคิดนวัตกรรมสิ่งสร้างสรรค์ แนะนำการป้องกันลูกหลานเสพติดเซลฟี่  ต้องสอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อน  และให้ยอมรับความแตกต่างของคนที่มีไม่เหมือนกัน หรือไม่เท่ากัน 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงพฤติกรรมการเซลฟี่ (selfie) ของประชาชนในสังคมออนไลน์ ที่กลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งจะเป็นการสื่อสารการแสดงออกถึงตัวตน โดยการถ่ายรูปตนเองในอิริยาบทต่างๆ แล้วนำภาพมาแชร์หรือเผยแพร่บนโลกสังคมออนไลน์ การเซลฟี่นั้นมีความสำคัญกับความคิดในเรื่องของตัวตนอย่างมาก มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง 

หากเซลฟี่ในลักษณะที่เหมาะสม คือ เผยแพร่โดยไม่ได้หวังอะไร ก็จะไม่มีผลเสีย อาจจะแค่เก็บไว้เป็นความประทับใจได้ แต่ถ้าหากเซลฟี่ติดกันมาก เพื่อให้เพื่อนๆ มากดไลค์หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดความหมกมุ่น อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง หากโพสต์รูปตัวเองไปแล้วและได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์หรือแสดงความคิดเห็นน้อย ไม่เป็นไปตามคาดหวังและโพลต์ใหม่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ จะส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจ และอาจไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่ออาการเหล่านี้สะสมไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดระแวง  เครียด  ซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง  โดยหากเป็นช่วงวัยรุ่น จะมีผลกระทบต่ออนาคตได้ เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง จะมีผลในการพัฒนาตัวเองยาก ขาดภาวะการเป็นผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญมากในการใช้ชีวิตทั้งการทำงาน ครอบครัว โอกาสที่จะคิดพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ จึงเป็นไปได้ยากขึ้น  มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง

ภาพถ่าย, ตัวจับเวลา, การถ่ายภาพ, เซลฟี

ทางด้านแพทย์หญิงกุสุมาวดี  คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โดยทั่วไปตัวตนของคนเรา มี 4 ประเภท คือ

1.ตัวตนจริงๆ เช่น รูปร่าง หน้าตา ความสวย ความหล่อ การมีทักษะความสามารถ

2. ตัวตนที่เรารับรู้ตัวเอง ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับตัวตนที่แท้จริงก็ได้ เช่น คนที่เห็นแก่ตัวอาจไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นต้น

3.ตัวตนในอุดมคติ เป็นตัวตนในความฝันที่อยากจะเป็นหรือมีบุคคลต้นแบบที่อยากจะใช้ชีวิตตาม เช่น อยากมีหน้าตาแบบดารา หรือแต่งตัวแบบคนดัง

4. ตัวตนที่เรารับรู้จากการมองของคนรอบข้าง ( Looking -glass self) และเราก็มักจะปฏิบัติตนให้สอดคล้องและมีการปรุงแต่งไปตามค่านิยมหรือความต้องการสังคม ตัวตนประเภทนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเราทั้งในโลกความจริงและในโลกสังคมออนไลน์

แพทย์หญิงกุสุมาวดี กล่าวต่อว่า การถ่ายภาพเซลฟี่ เปรียบเสมือนการได้ส่องกระจก  พฤติกรรมถ่ายเซลฟี่ที่น่าเป็นห่วงมี 2 ประเภท

ประเภทแรก คือการถ่ายเซลฟี่ร่วมกับการใช้แอพลิเคชั่นเพื่อแต่งเติมหน้าตัวเองให้ดูดีมีสีสันสดใสขึ้นตามความต้องการ เช่น การทำตาดำโต หน้าเรียว แก้มชมพู  ปากแดงซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทั้งไทยและต่างประเทศ  จัดว่าเป็นภาพตัวตนในอุดมคติ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงหากต้องปรับเปลี่ยนตัวเองบ่อยๆ จะมีผลทำให้ขาดความมั่นใจในการเผชิญหน้าจริงกับผู้คนที่เป็นเพื่อนในโลกโซเชียลหรือการเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะทำให้กลายเป็นยอมรับความจริงไม่ได้   

ประเภทที่สอง คือการใช้แอพถ่ายเซลฟี่บ่อยถี่จนเกินไปอาจเป็นสัญญานของผู้ที่หมกมุ่นไม่พึงพอใจรูปร่างหน้าตาของตนเองมากผิดปกติเรียกว่ากลุ่มอาการบีดีดี (Body Dysmorphic Disorder :BDD) คนกลุ่มนี้จะนิยมการใช้แอพถ่ายภาพเซลฟี่เพราะสามารถตอบโจทย์โดยตรวจสอบรูปร่างหน้าตาของตัวเองได้บ่อยตามต้องการ อาจมีพฤติกรรมหมกมุ่นไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาตัวเองและใช้แอพเซลฟี่ตลอดเวลาบางกรณีถึงขั้นหลุดจากโลกความเป็นจริงจนถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้เลย

ตัวจับเวลา, การถ่ายภาพ, ช่างภาพ, เซลฟี

วิธีการป้องกันลูกหลานเสพติดเซลฟี่มีคำแนะนำดังนี้

1. สอนเด็กให้มองและยอมรับในความแตกต่างของคนที่มีไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ข้อนี้สำคัญมาก สอนให้เด็กจะได้เข้าใจ จะได้ไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น

2. ควรเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยให้ความรัก ความอบอุ่น เด็กจะให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงให้คำแนะนำการใช้โลกออนไลน์และเซลฟี่ให้เหมาะสม ถูกต้อง ถูกเวลา

3. ฝึกเด็กให้รู้จักระเบียบวินัย รู้จักควบคุมตัวเองในการใช้เวลาในโลกออนไลน์  สิ่งสำคัญ ผู้ปกครองจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ของตนเองให้เด็กได้เห็นและได้รับรู้

4.สอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง ฝึกทักษะทางสังคม เช่น การยิ้ม การชื่นชมคนอื่น รู้จักการแบ่งปันผู้อื่น

5.ฝึกให้เด็กมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในโลกแห่งความเป็นจริง โดยการชวนทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว เช่น การออกกำลังกาย  ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานศิลปะ ทำอาหาร ทำงานบ้าน หรือจิตอาสาอื่นๆ  เป็นต้น เพื่อทำให้เด็กมองเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง   

สังคมออนไลน์ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้คนมีโอกาสได้เห็นหน้าตาตัวเองบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้เกิดความระแวงในหน้าตาของตัวเองว่าจะสวยหรือหล่อหรือไม่ ขณะเดียวกันการเซลฟี่ที่บ่อยมากเกินไป อาจสะท้อนถึงความกังวลและความไม่มั่นใจในตัวเอง และอาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้รู้สึกว่าต้องทำให้ตัวเองดูดีสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง หลายคนอาจถึงกับตัดสินใจทำศัลยกรรม เพื่อให้ได้หน้าตาที่สวยแบบตามคนในอุดมคติ หรือทำให้สวยเหมือนในภาพเซลฟี่ที่ใช้โปรแกรมตกแต่งเพิ่ม เพื่อทำให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

เกาะติดข่าวสารการตลาดออนไลน์ เทคนิคการโปรโมทโฆษณา

แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @ajlink ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Fanpage : Aj Link

ติดตามข่าวสารไอที : www.ajlink.net

ที่มา – PRdmh

By Aj.Link

อาจารย์หลิง ณิฌา CEO : inDigital Co.,Ltd.