fbpx

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง กรณีมีการถ่ายทอดสดบนโลกโซเซียล (Live) การทำร้ายตัวเอง แล้วมีการแชร์กันออกไป ว่า สิ่งที่น่าห่วง คือ การแสดงความคิดเห็น หรือคอมเมนต์แบบยั่วยุ หรือท้าทาย ซึ่งขอย้ำว่า การส่งสัญญาณก่อนทำร้ายตนเองทางโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ และคลิปวิดีโอ อาทิ การตัดพ้อหรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ลาก่อน ครั้งนี้จะเป็นโพสต์สุดท้าย คงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว อโหสิกรรมให้ด้วย หรือใช้ข้อความบ่งบอกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยู่ไม่ได้จริงๆ ถึงเวลาแล้ว ชีวิตมันสั้นนัก หรือพูดถึงความเจ็บปวดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมทั้งโพสต์ถึงการเป็นภาระของผู้อื่น หรือรู้สึกผิด บางรายมีการโพสต์ภาพและวิธีที่จะใช้ทำร้ายตัวเอง สัญญาณเหล่านี้ เป็นสัญญาณเตือน ที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เกิดการทำร้ายตนเองได้

ดังนั้น จึงไม่ควรมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น สำหรับผู้ที่ได้พบเห็นหรือรับทราบข้อมูลควรจะดำเนินการช่วยเหลือทันที เพราะการแสดงตัวในโลกโซเชียล เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่า คนที่จะทำร้ายตัวเองอาจยังมีความลังเลอยู่ และกำลังร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในเวลานั้นเราสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตนี้ได้ ด้วยการประวิงเวลา ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด พูดจาเพื่อเรียกสติ ยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น ให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงนั้นไปให้ได้

ทุกคนในโลกโซเชียล สามารถช่วยคนเหล่านั้นได้ โดยยึดหลัก 5 อย่า 3 ควร ดังนี้

สิ่งที่ไม่ควรทำ 5 อย่า ได้แก่

1.อย่าท้าทาย ไม่สื่อความหมายต่างๆ เช่น “ทำเลย” “กล้าทำหรือเปล่า” เพราะคำพูดเหล่านี้จะยิ่งไปกระตุ้นให้เขาทำ

2.อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย ตำหนิ ด่าว่า เช่น “โง่” “บ้า” หรือตำหนิอื่นๆ เพราะจะยิ่งเพิ่มความคิดทางลบและเพิ่มโอกาสทำร้ายตัวเองมากยิ่งขึ้น

3.อย่านิ่งเฉย การนิ่งเสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม

4.อย่าแชร์ บอกต่อ เผยแพร่ข้อความหรือภาพการทำร้ายตนเองของบุคคลนั้น เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นที่คิดจะทำร้ายตนเองเกิดการเลียนแบบได้ เพราะคิดว่าเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว และยิ่งหากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ จะไม่มีความระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การทำร้ายตนเองเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้

5. อย่าติดตามหรือรับชมการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ หดหู่ เก็บไปเป็นความเครียด ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตของตัวเอง

สิ่งที่ควรทำ 3ควร ได้แก่

1.ควรห้าม หรือขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะโดยทั่วไปผู้ที่คิดทำร้ายตนเอง ส่วนใหญ่จะมีความลังเลใจอยู่

2.ควรชวนคุย เพื่อประวิงเวลาให้มีโอกาสทบทวน โดยการถามถึงความทุกข์ รับฟัง และไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว ให้คนนั้นคิดถึงคนที่รักและเป็นห่วง และแนะนำทางออกอื่นๆ

3.ควรติดต่อขอความช่วยเหลือ เช่น ติดต่อบุคคลที่ใกล้ชิดเขาที่สุดขณะนั้น หรือ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทร 191 สมาคมสมาริตันส์ หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือได้เร็วที่สุด

ดังนั้น เราทุกคนควรจะ 5 อย่า 3 ควร เมื่อพบเห็นบุคคลไลฟ์สดเพื่อทำร้ายตัวเอง เพราะอาจจะเป็นการช่วยเหลือในทางตรงหรือทางอ้อมให้กับบุคคลที่คิดจะทำร้ายตัวเองอยู่ก็ได้

เกาะติดข่าวสารการตลาดออนไลน์ เทคนิคการโปรโมทโฆษณา

แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @ajlink ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Fanpage : Aj Link

ติดตามข่าวสารไอที : www.ajlink.net 

ที่มา – กรมสุขภาพจิต

By Aj.Link

อาจารย์หลิง ณิฌา CEO : inDigital Co.,Ltd.